Tuesday, April 18, 2006

ควันหลงประเพณีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่




ประเพณีปี๋ใหม่เมืองแบบดั้งเดิม ยึดหลักความถูกต้องดีงามตามแบบจารีตประเพณี และมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั้งทางศาสนา พิธีกรรม และการละเล่น

วันแรกคือ วันที่ 13 เมษายน เป็น “วันสังขารล่อง” ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ซึ่งแต่ละบ้านจะปัดกวาดทำความสะอาดรวมถึงการชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆให้หมดไป พร้อมจะต้อนรับ สิ่งที่เป็นมงคลเข้ามาในชีวิต มีการสรงน้ำพระพุทธรูป และผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะเรียกลูกหลานมาอธิษฐานกล่าวคำไล่ให้สิ่งไม่ดีตกไปกับสงกรานต์ แล้วใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยลูบศีรษะตัวเองและลูกหลาน สิ่งที่ซ่อนลึกนอกจากชำระล้างกายภายนอกแล้ว ยังเป็นการชำระล้างใจที่ได้ซึมซับรับเอาสิ่งไม่ดี ไม่งามเข้ามาทำให้ใจขุ่นมัว ใจไม่เป็นกุศล หม่นหมองซึมเศร้า สิ่งต่าง ๆ ที่เกาะกินหัวใจ ชำระสะสางให้ใจใสสะอาดหมดจด สำหรับต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ ที่กำลังมาพร้อมกับปีใหม่

วันถัดมาคือ “วันเนาว์ หรือ วันเน่า” สาว ๆ จะช่วยกันตำแป้ง ทำขนม ข้าวเกรียบ ข้าวควบ ข้าวแคบ ขนมจ๊อก อาหารพื้นบ้าน เอากระดาษว่าวหลาย ๆ สีมาตัดช่อ ตัดตุงตามราศี ปีเกิด เตรียมไว้ทำบุญ โดยวันนี้จะทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล ไม่มีการด่าทอทะเลาะวิวาท ไม่อย่างนั้น จะถือว่าปากคนนั้นได้เน่าและจะมีแต่สิ่งอัปมงคลไปตลอดทั้งปี ในช่วงเช้าจะจัดเตรียมซื้อของกินของใช้เครื่องไทยทานต่างๆ ส่วนช่วงบ่ายก็จะไปขนทรายเข้าวัด ถือว่าเป็นการนำทรายมาทดแทนส่วนที่ติดเท้าเราออกจากวัดไป และตามคติการได้บุญกุศลมากเท่าเม็ดทราย ที่มากมายจนเหลือคณานับ สมัยก่อนนั้นไปขนทรายกันที่แม่น้ำลำคลอง หนุ่มสาวถือโอกาสได้ช่วยกันขนทราย พูดเกี้ยวพาราสีกับผู้ที่รักใคร่ชอบพอ เล่นน้ำกันสนุกสนาน ที่สุดแล้วทรายของทุกคนไปกองล้น ที่ลานวัด ผู้เฒ่าผู้แก่ช่วยกันสานไม้ไผ่เป็นวงกลมซ้อนลดหลั่นให้สูงขึ้น เป็นรูปเจดีย์มีช่องสำหรับใส่ทรายลงไปรอบ ๆ ก่อเป็นเจดีย์ทราย มีความหมายคล้ายพระธาตุ ทั้งนี้ เจดีย์ทรายนั้นก็จะถูกประดับตกแต่งด้วยตุง (ธง) สีสันสดใสปัจจุบันหลาย ๆ แห่งจะมีการประกวดเจดีย์ทรายทั้งประเภทสวยงาม และประเภทแข่งกันว่าบ้านไหนจะได้ทรายมากที่สุดสูงที่สุด โดยทรายที่ได้ทางวัดก็ได้นำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ในวัด ถือเป็นกุศโลบายที่ดีอย่างหนึ่ง การสรงน้ำพระพุทธรูปในวันสงกรานต์ ก็เพื่อแสดงความเคารพบูชาและเพื่อความเป็นสิริมงคล

วันที่สาม เรียกว่า “วันพญาวัน หรือวันเถลิงศก” ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ดีที่สุดของปี ชาวบ้าน จะนำสำรับอาหารไปทำบุญตักบาตรที่วัด อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ บางคนจะนำสำรับไปมอบให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เรียกว่า “ตานขันข้าว” ตอนบ่ายก็จะเริ่มการดำหัว คือการ “สุมาคารวะ” ที่ลูกหลานจะขอขมาลาโทษที่เคยกระทำต่อญาติผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อยอันมีต่อผู้ใหญ่ ในวันนี้ หลายท้องที่เริ่มพิธีแห่ไม้ค่ำโพธิ์ ไม้ท่อนยาวปลายมีง่ามแห่นำไปค้ำกิ่งต้นโพธิ์ เป็นการค้ำจุนศาสนาให้มั่นคงยั่งยืนจวบจน 5,000 ปี รวมทั้งเป็น การสืบชะตาให้อายุตัวเองให้ยืนยาวด้วยพร้อมกัน

วันที่สี่เป็น “วันปากปี” ถือเป็นการเริ่มต้นของปีใหม่ มีการดำหัวตามวัดต่างๆ ทั้งที่อยู่ใกล้เคียงและห่างไกล ถือเป็นการทำพิธีคารวะเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

วันที่ห้าคือ “วันปากเดือน” ถือเป็นวันเริ่มต้นของเดือนใหม่ จะมีการส่งเคราะห์ต่างๆ ตามแบบที่นิยมกันมา แต่โบราณประเพณีสงกรานต์ มิใช่เพียงการเล่นสาดน้ำกันอย่างคึกคะนอง แต่เป็นการสืบสานวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความสงบสุข ชำระสะสางการกระทำต่าง ๆ ทั้งกาย วาจา ใจ ให้ล่วงไปกับปีเก่า และน้อมรับปีใหม่ด้วยการเอาสิ่งที่ดีงาม ศีลธรรม เข้ามาอยู่กับตัวตน สร้างความสุขในการอยู่ร่วมกันของชุมชน และสังคม

0 Comments:

Post a Comment

<< Home